เมื่อพูดถึงมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติทุกคนย่อมนึกถึง โอลิมปิก เกมส์ แต่กับโลกยุคปัจจุบันที่ไร้พรมแดนทั้งเรื่องเชื้อชาติ สีผิว และเพศแล้ว ย่อมมีคำถามตัวโต ๆ ว่า โอลิมปิก คือการแข่งขันสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้จริง ๆ หรือ?
แม้ โอลิมปิก จะประกาศตัวชัดเจนว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และมีนักกีฬาเกย์มากมายในโลกที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน แต่สำหรับโอลิมปิกที่เป็นทัวร์นาเมนต์กีฬากระแสหลักแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะลงแข่งโดยเปิดเผยตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีนักกีฬาจำนวนไม่น้อยที่ทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือบางคนเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการแข่งขันในกีฬากระแสหลักเพื่อตัดปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ที่หนักไปกว่านั้นคือนักกีฬา LGBTQ+ ในบางประเทศไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ เนื่องจากผิดต่อหลักปฏิบัติทางศาสนาหรือกฎเกณฑ์ทางสังคม บางแห่งมีบทลงโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต
เกย์เกมส์ คือมหกรรมกีฬาที่เกิดขึ้นเพื่อโอบกอดผู้คนเหล่านั้น โดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหานักกีฬา LGBTQ+ ที่เก่งที่สุดในโลก แต่เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้เป็นตัวของตัวเองโดยปราศจากการถูกเลือกปฏิบัติ และตรงกันข้ามกับโอลิมปิกที่คัดเอาเฉพาะนักกีฬาหัวกะทิเข้าร่วมการแข่งขัน แต่เกย์เกมส์เปิดกว้างให้กับทุกคนไม่ว่าคุณจะเป็นสุดยอดนักกีฬาหรือไม่ก็ตาม
ใครคือผู้ก่อตั้งเกย์เกมส์
เราจะพูดถึงเกย์เกมส์ไม่ได้เลย หากไม่ได้เอ่ยถึง ด็อกเตอร์ ทอม วัดเดลล์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจและผู้ก่อตั้งการแข่งขันกีฬาและการแสดงวัฒนธรรมระดับโลกรายการนี้ โดยวัดเดลล์หรือนามสกุลเดิมคือฟลูบาเคอร์เกิดในครอบครัวคาธอลิกชาวเยอรมัน-อเมริกันที่เมืองเพเทอร์สัน รัฐนิวเจอร์ซีย์เมื่อปี 1937 เขารู้ว่าตัวเองเป็นเกย์สมัยเรียนไฮสคูลแต่พยายามเก็บกดมันเอาไว้ด้วยการทุ่มเทให้กับการเล่นกีฬา วัดเดลล์เล่นกีฬาหลายชนิดทั้งอเมริกันฟุตบอลและยิมนาสติกเหมือนพ่อแม่บุญธรรมที่รับเขามาเลี้ยงหลังพ่อแม่แยกทางกัน
อย่างไรก็ตาม กรีฑาคือสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุด ถึงขั้นที่ได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะก้าวไปติดทีมชาติสหรัฐฯ ลงแข่งทศกรีฑาใน โอลิมปิก เกมส์ ปี 1968 ที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ซึ่งแม้วัดเดลล์จะไม่ได้เหรียญรางวัลไปครองแต่ก็คว้าอันดับ 6 จากนักกีฬาทั้งหมด 33 คน รวมถึงทำลายสถิติตัวเอง 5 จาก 10 รายการ
อย่างไรก็ตาม 4 ปีต่อมาระหว่างฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันที่ฮาวาย วัดเดลล์ได้รับบาดเจ็บเข่าอย่างรุนแรงจนต้องจบอาชีพนักกีฬา จากนั้นเขากลับมาทำงานในสายการแพทย์ตามสาขาที่ได้เล่าเรียนมาและเริ่มเปิดเผยตัวตนกับเพื่อน ๆ มากขึ้น ระหว่างที่ย้ายมาใช้ชีวิตใน ซาน ฟรานซิสโก จนในช่วงปี 1974-81 วัดเดลล์ได้ไปทำงานในตะวันออกกลางในฐานะผู้อำนวยการทางการแพทย์ของบริษัทวิทเทเกอร์ ซึ่งเจ้าตัวได้รับหน้าที่แพทย์ประจำตัวให้กับเจ้าชายและนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย รวมถึงได้เป็นแพทย์ประจำทีมชาติเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกปี 1976 ที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดาอีกด้วย
จุดเริ่มต้นเกย์เกมส์ และข้อพิพาทกับโอลิมปิกสหรัฐฯ
หลังออกจากบริษัทวิทเทเกอร์ วัดเดลล์ได้โอกาสลงแข่งโบว์ลิงเกย์ที่ เบย์ แอเรีย ซึ่งความรู้สึกที่ได้จากงานนี้รวมถึงประสบการณ์และความประทับใจในการลงแข่งโอลิมปิก ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจอยากจัดการแข่งขันกีฬาสำหรับชาวเกย์ในรูปแบบเดียวกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ จากนั้น วัดเดลล์ ได้เดินทางไปเผยแพร่แนวคิดของตัวเองทั่วประเทศเพื่อระดมการสนับสนุน
ปี 1982 การแข่งขันเกย์เกมส์สมัยแรกก็ได้เริ่มต้นขึ้นที่ ซาน ฟรานซิสโก ในรูปแบบของมหกรรมกีฬาและเทศกาลศิลปะโดยใช้ชื่อ "เกย์ โอลิมปิก เกมส์" แต่ถูกคณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐฯ (USOC) ยื่นฟ้องฝ่ายจัดการแข่งขันจากการใช้คำว่า "โอลิมปิก" ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยูเอสโอซีไม่เคยยื่นฟ้องกลุ่มใดที่เอาคำนี้ไปใช้มาก่อน ซึ่งพวกเขาให้เหตุผลว่าการยินยอมให้ใช้ชื่อ "เกย์ โอลิมปิกส์" ส่งผลเสียต่อพวกเขา และคำร้องเป็นผลสำเร็จก่อนเริ่มการแข่งขันเพียง 19 วันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ใช้ชื่ออย่างที่วัดเดลล์ตั้งใจเอาไว้ แต่เกย์เกมส์ครั้งแรกได้เดินหน้าและประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม มีนักกีฬาเข้าร่วมมากกว่า 1,300 คนจาก 170 ชาติ ซึ่งอาจมาจากจุดประสงค์ของการแข่งขันที่ให้ค่ากับการเน้นย้ำเรื่องน้ำใจนักกีฬา, ความสำเร็จส่วนตัว และความครอบคลุมผู้คนในระดับที่ยิ่งกว่าโอลิมปิก ขณะที่กรณีพิพาทเรื่องการใช้คำว่า "เกย์ โอลิมปิกส์" ต้องต่อเนื่องไปถึงชั้นศาลและยืดเยื้อไปถึงปี 1987 ซึ่งศาลสูงของสหรัฐฯลงคะแนนตัดสิน 5-4 เสียงให้ ยูเอสโอซี เป็นฝ่ายชนะคดี รวมถึงยืนยันสิทธิ์ของพวกเขาในการเก็บค่าธรรมเนียมทางกฎหมายจากวัดเดลล์อีกด้วย
เวทีไร้พรมแดนที่เป็นมากกว่าแค่การแข่งขันกีฬา
สำหรับโอลิมปิกมีกฎข้อห้ามเรื่องการแสดงออกทางการเมือง หรือสัญญะต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เนื่องจากต้องการแยกกีฬาออกจากการเมือง รวมไปถึงการประท้วงและการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมใด ๆ ก็ตาม แต่สำหรับ เกย์เกมส์ แล้วตรงกันข้าม เพราะวัดเดลล์ต้องการให้อีเวนต์นี้เป็นเวทีสำหรับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เป็นเวทีเพื่อการเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ฝ่ายจัดการแข่งขันออกกฎห้ามการเลือกปฏิบัติตามเพศสภาพ เพศวิถี เชื้อชาติและลักษณะอื่น ๆ เกย์เกมส์ยังให้ความสำคัญกับการตระหนักถึงภัยร้ายของเอชไอวีและเอดส์พร้อมกับการเปิดรับผู้ติดเชื้อให้เข้าร่วมการแข่งขัน นอกจากนั้นพวกเขายังเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลสหรัฐฯยกเว้นมาตรการห้ามไม่ให้ผู้ติดเชื้อเดินทางเข้าประเทศชั่วคราวเพื่อให้สามารถลงแข่งในปี 1994 ที่นิวยอร์ก และโอลิมปิก เกมส์ ปี 1996 ที่แอตแลนตา โดยได้รับความร่วมมือจาก ยูเอสโอซี
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เอชไอวีคร่าชีวิตของวัดเดลล์ในปี 1987 หลังจากที่เขาเข้าร่วมการแข่งขัน เกย์เกมส์ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 1986 ในฐานะนักกีฬาพุ่งแหลนและคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ
ปณิธานที่สานต่อ สู่หนึ่งในอีเวนต์กีฬาที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในโลก
ด้วยความที่เกย์เกมส์ไม่ได้จำกัดคนเข้าร่วมแค่ชาว LGBTQ+ แต่คนที่มีเพศวิถีแบบชายรักหญิงหรือหญิงรักชายก็สามารถลงแข่งขันได้ ทำให้จำนวนผู้สนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากรายการนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทศกาลสนุก ๆ เท่านั้น แต่นักกีฬาระดับโลกก็เข้าร่วมการแข่งเช่นกัน โดยย้อนไปในปี 2002 จิม บัลลาร์ด เคยทำลายสถิติโลกว่ายน้ำท่ากรรเชียง 100 ม. ที่นครซิดนีย์มาแล้ว ขณะที่ คริส มอร์แกน เริ่มต้นตำนานนักยกเหล็กของเขาจากเกย์เกมส์ ก่อนจะก้าวไปคว้าได้ถึง 30 เหรียญจากการลงแข่งรายการชิงแชมป์โลกหลายสมัย
จากจุดเริ่มต้นสมัยแรกที่มีนักกีฬาเข้าร่วมหลักพันต้น ๆ เกย์เกมส์ เติบโตขึ้นอย่างคงที่และมั่นคงในทุก ๆ ปี โดยการแข่งขันที่นิวยอร์กปี 1994 มีนักกีฬาเข้าร่วมมากกว่า โอลิมปิก ฤดูหนาว ในปีเดียวกัน ซึ่งในการแข่งขันครั้งที่ 11 ที่ฮ่องกงจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนปี 2023 นี้ คาดว่าจะมีนักกีฬาเข้าร่วมหลักหมื่นคน ซึ่งความสำเร็จในรายการนี้ตรงตามปณิธานที่วัดเดลล์เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ตอนจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1982 นั่นคือ การทำให้โลกมองเห็นพวกเขา และรับรู้ถึงพวกเขาได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนได้เห็นพวกเขาลงแข่งขันอย่างสนุกสนาน นั่นคือสิ่งที่เกย์เกมส์ทำได้สำเร็จและจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป
cr. https://stadiumth.com/columns/detail?id=308&tab=inter