เพราะเรื่องเพศเต็มไปด้วยความต้องการที่หลากหลายและสามารถแสดงออกแบบไหนก็ได้ หากต้องการข้ามเพศในเบื้องต้น การเทคฮอร์โมนเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก การมีความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนเริ่มเทคฮอร์โมนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะหากเทคฮอร์โมนไม่ถูกต้องผลเสียที่เกิดขึ้นกับร่างกายอาจยากเกินรับมือ
ฮอร์โมนเพศหญิงและฮอร์โมนเพศชายต่างกันอย่างไร
สำหรับผู้หญิงและผู้ชายในร่างกายจะมีทั้งฮอร์โมนเพศหญิงและฮอร์โมนเพศชาย แต่ผู้หญิงฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน ทำให้มีหน้าอก สะโพกผาย การกระจายตัวของไขมันเปลี่ยนไปแบบเพศหญิง ผิวพรรณนุ่ม ขนบางลง ส่วนผู้ชายฮอร์โมนเพศชายคือ เทสโทสเตอโรน ทำให้มีหนวดเครา ขนตามร่างกาย มีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ขึ้น เสียงทุ้ม ขาดประจำเดือน ลูกกระเดือก เป็นต้น
ทำไมต้องเทคฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศ
ในผู้ที่ต้องการข้ามเพศ การเทคฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศมีจุดประสงค์เพื่อลดฮอร์โมนเพศเดิมที่สร้างขึ้นจากร่างกาย ช่วยลดการแสดงออกทางร่างกายของเพศเดิม และเพื่อเสริมฮอร์โมนเพศที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปตามที่ตนเองต้องการ ควรได้รับบริการเพื่อการข้ามเพศกับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนมีความเสี่ยงหรือเป็นโรคที่เป็นข้อห้ามของการใช้ฮอร์โมน เช่น หลอดเลือดอุดตัน มะเร็งบางชนิด เป็นต้น นอกจากนี้ฮอร์โมนยังมีหลากหลายชนิดและรูปแบบ แต่ละคนอาจเหมาะกับฮอร์โมนต่างชนิดกัน การได้พบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง การได้รับฟังข้อดีและข้อเสีย ทางเลือกของยาที่เหมาะสม และพูดคุยเรื่องทางเลือกในการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ก่อนการใช้ฮอร์โมนจึงมีความจำเป็น
ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศเป็นอย่างไร
ฮอร์โมนเพศที่นำมาใช้เพื่อการข้ามเพศ เป็นฮอร์โมนที่มีความคล้ายกับฮอร์โมนธรรมชาติจึงนำมาประยุกต์ใช้ในผู้ที่ต้องการข้ามเพศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตรงกับเพศที่ต้องการ ทำให้รู้สึกดีและมั่นใจในตนเองเพราะฉะนั้นฮอร์โมนข้ามเพศนอกจากเปลี่ยนแปลงร่างกายยังทำให้ภาวะทางจิตใจดีขึ้นด้วย
การเทคฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศมีกี่วิธี
การเทคฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศมี 2 วิธีหลัก ๆ คือ
- การเทคฮอร์โมนเพื่อสร้างความเป็นชาย (Masculinizing Hormone) เป็นการปรับลักษณะร่างกายเพศหญิงแต่กำเนิดให้มีความเป็นเพศชาย โดยจะเสริมฮอร์โมนเพศชายคือ เทสโทสเตอโรน
- การเทคฮอร์โมนเพื่อสร้างความเป็นหญิง (Feminizing Hormone) เป็นการปรับลักษณะร่างกายเพศชายแต่กำเนิดให้มีความเป็นเพศหญิง โดยจะเสริมฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน ในกรณีที่หญิงข้ามเพศยังมีอวัยวะเพศชายเดิม (อัณฑะ) ควรได้รับยากดการทำงานของฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย
เทคฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศได้เมื่อไร
ก่อนเทคฮอร์โมนควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินความเสี่ยง รับฟังข้อดีข้อเสีย ปรึกษาเรื่องการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ สามารถเริ่มเทคฮอร์โมนได้ตั้งแต่ช่วงเข้าสู่วัยหนุ่มสาว โดยในกรณีนี้อาจให้เป็นยาที่ยับยั้งการพัฒนาลักษณะทางเพศเดิมก่อนแล้วจึงให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (กรณีหญิงข้ามเพศ) หรือ เทสโทสเตอโรน (กรณีชายข้ามเพศ) เมื่ออายุ 16 ปี หรืออาจก่อนนั้น โดยพิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้ชำนาญการ
ยาคุมกำเนิดช่วยในการข้ามเพศหรือไม่
หลายคนใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อการข้ามเพศและซื้อมารับประทานเองอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ยาคุมกำเนิดออกแบบมาเพื่อคุมกำเนิดในผู้หญิง ลดอาการปวดประจำเดือน ลดปริมาณประจำเดือนไม่ให้มามากจนเกินไป ไม่ควรนำมาใช้เพื่อการข้ามเพศ เพราะเอสโตรเจนในยาคุมกำเนิดเป็นชนิดเอทินิลเอสตราไดออล Ethinyl Estradiol (EE) ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดอุดตัน เมื่อใช้ขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดเสียหายจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย การปรึกษาแพทย์เพื่อข้ามเพศอย่างปลอดภัยคือวิธีที่ดีที่สุด
ข้อมูลโดย