Thursday, December 26, 2024

ทำความรู้จักกับ LGBTQ

 หากพูดถึง LGBTQI  ก็จะนึกถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่รู้หรือไม่ว่าอักษรเหล่านี้มีความหมายที่ลึกซึ้งในอัตลักษณ์ทางเพศศ (Gender Identity) เราจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาทำความเข้าใจกับตัวอักษรเหล่านี้

LGBTQI.jpg

 

Lesbian (L) หรือเลสเบี้ยนคืออะไร

เลสเบี้ยนหมายถึงผู้หญิงที่มีความรักต่อผู้หญิงด้วยกัน

เป็นการอธิบายความต้องการทางเพศและความต้องการฉันคู่รัก (romantic desire) ระหว่างผู้หญิงด้วยกันคำว่า "เลสเบี้ยน" อาจใช้เป็นคำนาม หมายถึง ผู้หญิงที่นิยามหรือถูกผู้อื่นมองว่ามีลักษณะรักเพศเดียวกัน หรือเป็นคำคุณศัพท์ ใช้อธิบายลักษณะเฉพาะของวัตถุหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความปรารถนาในการรักเพศเดียวกันของผู้หญิง

Gay (G) หรือเกย์คืออะไร

เกย์หมายถึงผู้ชายที่มีความรักต่อผู้ชายด้วยกัน 

ผู้ชายที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นผู้ชายโดยจะมีความรักและความปรารถนาในระหว่างเพศเดียวกันการมีความสัมพันธ์ในแบบคู่รักหรือการมีเพศสัมพันธ์ (Sex) อาจจะไม่กำหนดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเป็นฝ่ายรับหรือรุกเท่านั้นแต่อาจจะเป็นได้ทั้งสอง

 

Bisexual (B) หรือไบเซ็กชวลคืออะไร

ไบเซ็กชวลหมายถึงบุคคลที่สามารถมีความรักได้ทั้งเพศชายและเพศหญิงหรือเรียกสั้นๆว่า ไบ (Bi) 

เป็นรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) หรือความสนใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น คนที่มีรสนิยมแบบไบเซ็กชวลอาจมีประสบการณ์ทางเพศ อารมณ์ ความรัก กับคนที่มีลักษณะทางเพศ (Sexual Characteristics) ที่เป็นเพศเดียวกับตัวเองหรือเพศตรงข้ามและยังหมายถึงความรู้สึกส่วนตัวและ        อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) โดยยึดจากความสนใจทางเพศ (Sexual orientation)                การแสดงออกทางพฤติกรรม (Gender expression)

 

Transgender (T) หรือทรานส์เจนเดอร์คืออะไร

ทรานส์เจนเดอร์หมายถึงผู้ที่ได้รับการแปลงเพศตามที่ต้องการ ทรานส์เจนเดอร์คือบุคคลที่รู้สึกพึงพอใจกับอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตน ซึ่งมักจะหมายถึงผู้ที่ได้รับการแปลงเพศที่ตัวเองต้องการแล้ว ซึ่งเเบ่งออกเป็น Male to female Transgender (MtF) และ Female to Male Transgender (FtM)

  • Male to female Transgender (MtF) คือ ผู้หญิงที่ได้รับการแปลงเพศมาจากเพศชายเรียบร้อยแล้วหรือเรียกว่า ผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman)
  • Female to Male Transgender (FtM) คือ ผู้ชายที่ได้รับการแปลงเพศมาจากเพศหญิงเรียบร้อยแล้วหรือเรียกว่า ผู้ชายข้ามเพศ (transman)

 

Queer (Q) หรือเควียร์คืออะไร

เควียร์หมายถึง บุคคลที่มีความรักโดยไร้กฎเกณฑ์ (ทางเพศ)

เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ใดๆ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเพศไหน จะรักใคร จะชอบเพศไหน ไม่จำกัดว่าจะต้องรักชอบกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น คนที่ไม่จำกัดว่าเป็นเพศใดและต้องรักเพศใด ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ที่อยู่เหนือคำจำกัดความทางเพศโดยสิ้นเชิง

 

Intersex (I) หรืออินเตอร์เซ็กส์คืออะไร

อินเตอร์เซ็กส์หมายถึงบุคคที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพโดยมีอวัยวะสืบพันธ์ุของทั้งสองเพศ

อินเตอร์เซ็กส์คือคนที่ไม่สามารถระบุเพศของตัวเองได้อย่างชัดเจน มีทั้งคนที่เกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ ปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศที่ผิดปกติ หรือแม้กระทั่งลักษณะด้านอื่นๆ ที่ค่อยๆ ปรากฎเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ การเป็นอินเตอร์เซ็กส์์มักจะหมายถึงลักษณะทางเพศที่แสดงออก ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งชาวอินเตอร์เซ็กส์ก็สามารถมีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายได้เหมือนบุคคลทั่วไป

251980.jpg

แอมเนสตี้ ชวนมองความน่าสนใจในประเด็นความก้าวหน้าของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในช่วงปี 2020

#รักเพศเดียวกันรักษาหายได้หรือไม่? 

เพศวิถีไม่ใช่โรค การที่คนรักเพศเดียวกันถูกนำมาเปรียบเทียบกับคนรักต่างเพศและคิดว่าพวกเขาสามารถรักษาได้เหมือนเป็นโรคทั่วไปเพียงแค่บำบัดรักษาหรือรับฮอร์โมนทางเพศเพิ่มเติมโดยกระตุ้นด้วยการฉีดยาหรือวิธีการใดก็ตามที่เป็นการบังคับ ถือเป็นการละเมิดสิทธิการแสดงออกในอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity)  

การแสดงออกในอัตลักษณ์ทางเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งสมัยก่อนผู้คนในสังคมไทยมองว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศคือคนที่เป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่งและสามารถรักษาหายได้ ความเชื่อนี้ได้ก่อให้เกิดสังคมแห่งการเหยียดเพศและมองกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นบุคคลวิกลจริต

ในอดีตมีบุคคลหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญของโลกแต่ต้องมาจบชีวิตลงเพียงเพราะเขาเป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน บุคคลสำคัญคนดังกล่าวคือ อลัน  ทิวริง นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่จบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ที่ King’s college แห่งเคมบริดจ์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่ช่วยยุติสงครามโลกครั้งที่สองจากการถอดรหัส “อีนิก” เรื่องราวของเขาได้รับการถ่ายถอดเป็นภาพยนต์เรื่อง “The Imitation game”  

การที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในการยุติสงครามโลกครั้งที่สองถือได้ว่าเป็นการสร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงให้กับโลกของเรา แต่ความไม่เท่าเทียมของโลกใบนี้ก็ยังมองคนที่เพศสภาพ อลัน ทิวริง เป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกลงโทษในอังกฤษ โดยในปี  1952 เขาได้ถูกตีตราว่าเป็นอาชญกรรม เพียงเพราะเขามีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศและมีพฤติกรรมอนาจารกับผู้ชาย เขาถูกลงโทษโดยการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงโดยการถูกบังคับให้ฉีดยาทำให้เป็นหมันและต้องเข้ารับเคมีบำบัดและฮอร์โมนเพื่อรักษาอาการรักเพศเดียวกันของเขาที่สังคมในยุคนั้นมองว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่รักษาหายได้ สุดท้ายอลัน ทิวริง ก็ได้ปลิดชีวิตตัวเองลงเพราะน้อยใจในโชคชะตาชีวิตของตัวเอง

 หลังจากนั้นในปี 1967 อังกฤษได้ยกเลิกการเอาผิดทางกฎหมายสำหรับการมีเพศสัมพันธุ์กับคนเพศเดียวกัน และอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ในปี 2014 แต่ก็ยังคงมีการบังคับให้ทำการบำบัดแก้เพศวิถี จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้ยกเลิกการบำบัดแก้เพศวิถีในเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การบำบัดแก้เพศวิถี "น่ารังเกียจอย่างยิ่ง" และ "ไม่ควรมีอยู่ในประเทศนี้" และรับปากจะเดินหน้าผลักดันเพื่อให้เกิดการห้ามการบำบัดแก้เพศวิถีขึ้น และด้วยคำพูดนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าโลกใบนี้เริ่มขับเคลื่นและมองเห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการปกครอง

#ห้ามการบำบัดแก้เพศวิถี

สิ่งที่เรียกว่า "การบำบัดแก้เพศวิถี" เป็นการพยายามเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศด้วยวิธีการทางจิตวิทยา ความเชื่อ และบางครั้งก็ใช้วิธีทางกายภาพ การบำบัดนี้ถูกมองว่า ขัดต่อจริยธรรมและอาจเป็นอันตรายต่อผู้เข้ารับการบำบัด ซึ่งในการบำบัดแก้เพศวิธีถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2020 ชายรักชายชาวอังกฤษวัย 74 ปีได้ออกมาเรียกร้องคำขอโทษจากการที่แพทย์แนะนำให้เขาเข้ารับการบำบัดที่คลินิกจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมเมื่อ 50 ปีก่อน ขณะนั้นเขาถูกช็อตไฟฟ้าหลายครั้งต่อสัปดาห์ติดต่อกันนานหลายเดือน จนทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ และเป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (post-traumatic stress disorder--PTSD) นานกว่า 40 ปี

เขาเล่าถึงรายละเอียดของวิธีการบำบัดว่า "ผมนั่งอยู่ในห้อง มีจอโปรเจ็กเตอร์และรูปภาพให้ดู มีการติดขั้วไฟฟ้าที่ข้อมือและข้อเท้าของผม เมื่อภาพของผู้ชายฉายขึ้นแล้วเขาไม่เปลี่ยนไปยังภาพถัดไปในเวลาที่เร็วพอ เขาก็จะถูกช็อตด้วยไฟฟ้าอย่างรุนแรง แต่ถ้าเป็นภาพผู้หญิงฉายขึ้นมา ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น"

จุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของประเทศในแถบยุโรปที่เล็งเห็นถึงความเท่าเทียมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือประเทศมอลตา ซึ่งเป็นประเทศเเรกในทวีปยุโรปที่มีกฎหมายห้ามการบำบัดแก้เพศวิถี ต่อมาในปี 2020 หลายประเทศได้มีการออกกฎหมายห้ามเรื่องการบำบัดแก้เพศวิถี เช่น ในเดือน พฤษภาคม 2020 ในรัฐสภาเยอรมนีได้ผ่านกฎหมายห้ามสิ่งที่เรียกว่า "การบำบัดแก้เพศวิถี" กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทั่วประเทศ ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับ 30,000 ยูโร (ประมาณ 1,090,000 บาท) โดยการวิจัยได้ระบุว่า การบำบัดดังกล่าวอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าและเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้ 

สำเนาของ Mailchimp - general design .jpg

#การแต่งงานเพศเดียวกัน

กว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาติให้มีการสมรสกับเพศเดียวกันได้ อาจจะเป็นตัวเลขที่ดูน้อยแต่ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ในความก้าวหน้าบนโลกที่เรามองถึงสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต

ในความฝันอันสูงสุดของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือต้องการความคุ้มครองเหมือนบุคคลทั่วไปและมีตัวตนในสังคมที่ตนอยู่ เริ่มต้นปี 2020 กับประเทศไอร์แลนด์เหนือที่อนุญาตให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย และคู่รักหญิงรักหญิงก็กลายเป็นคู่รักเพศเดียวกันคู่แรกที่เข้าพิธีแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020  ตามมาติด ๆ กับประเทศคอสตารีกา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ออกกฎหมายให้เพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ โดยประธานาธิบดีการ์ลอส อัลบาราโด ของคอสตาริกา ได้ลงนามเห็นชอบกฎหมายรับรองสิทธิกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มเติม และสิ่งที่น่าสนใจคือคู่รักกลุ่มนี้มีสิทธิได้รับเบี้ยค่าเช่าบ้าน ในกรณีที่เป็นผู้มีรายได้น้อยเหมือนกับครอบครัวอื่นๆ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเท่าเทียมได้ชัดเจนสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในคอสตาริกา

ล่าสุดประเทศที่ 30 คือประเทศไทยซึ่งในปี 2020 คณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม) ของประเทศไทยได้เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ...  ที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ โดยมีหลักการเพื่อให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

อย่างไรก็ตามเมื่อ พ.ร.บ. การจดทะเบียนคู่ชีวิตที่มีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยตรง คุณธัญวัจน์  กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า     “#สมรสเท่าเทียม คือความเสมอภาค พ.ร.บ. คู่ชีวิตไม่เท่าสมรสเท่าเทียม”  โดยอธิบายว่า เนื่องจากคำว่า “คู่ชีวิต” ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นๆ แต่คำว่า “คู่สมรส” มีในกฎหมายอยู่แล้ว จึงต้องแก้ไขเพื่อให้ได้รับสิทธิเพิ่มเติม ดังนั้นจึงมีมุมมองว่าควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คนเพศเดียวกันและต่างเพศสามารถหมั้นหมายและแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  รวมถึงมีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสในทางกฎหมายด้วย จึงจำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติหรือกฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล จากเดิมที่ระบุว่า “สามีและภรรยา” ให้เป็น “คู่สมรส” แทน

 

#LGBTQI กับสังคมการทำงาน

หากเกิดมามีชีวิต ก็มีสิทธิที่จะได้รับการการคุ้มครองในฐานะพลเมืองของประเทศนั้นๆ และย่อมต้องได้รับการปฏิบัติิที่เท่าเทียมในทุกบริบท สังคมการทำงานเป็นสังคมหนึ่งในประเทศไทยที่มักจะตรีตรากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศว่าไม่เหมาะสมกับการทำอาชีพที่ทุกคนในประเทศไทยอยากเป็น นั่นก็คือ “ข้าราชการ” 

ในอดีต มุมมองของหน่วยงานภาครัฐยังคงมีเพียงแค่เพศหญิงและเพศชายเท่านั้น นอกจากนี้กฎหมายในการคุ้มครองปกป้องกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจากความชิงชังหรือการถูกเลือกปฏิบัติยังไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้พวกเขาสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองได้ แม้ว่าในยุคนั้นเริ่มมีองค์กรภาคประชาสังคม (COSs) ที่เริ่มผลักดันให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายมากขึ้นก็ตาม

ประเทศไทยถือว่ามีความโดเด่นและมีชื่อเสียงมากที่สุดในเอเชียเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศแต่ในการรองรับทางกฎหมายและการปกป้องสิทธิยังคงห่างไกล การที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศห่างไกลจากเสรีภาพ นำไปสู่การที่ไม่สามารถทำในสิ่งที่ตนอยากทำได้ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์จากสังคมการทำงาน ปัจจุบันเราเห็นเรื่องราวการสู้ชีวิตของกลุ่มผู้ที่มีความหลายหลายทางเพศเพื่อให้ตัวเองสามารถมีตัวตนในอาชีพที่รัก บางคนก็ประสบความสำเร็จแต่บางคนกลับถูกลิดรอนสิทธิเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ไม่ตรงกับเพศกำเนิด

ในปี 2020 ที่ผ่านมามีข่าวดีสำหรับการเปิดกว้างมากขึ้นต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในการทำอาชีพที่ตนรักและเป็นกระบอกเสียงบางอย่างเพื่อให้สังคมรู้ว่าเพศไม่ได้กำหนดหน้าที่การงานแต่ความสามารถต่างหากที่จะกำหนดความสำเร็จในการทำงานนั้นได้

อาชีพครู ที่ตอนเด็กหลายคนใฝ่ฝันอยากจะเป็น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ฝันที่อยากจะเป็นแม่พิมพ์ที่ดีให้สังคมไทย ในปี 2020 ที่ผ่านมามีความน่ายินดีเป็นอย่างมากที่สังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีเสรีภาพในการกำหนดการแต่งกายของตนเพื่อเข้ารับราชการครู และนี่ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าในเสรีภาพของการกำหนดการมีตัวตนในสังคมการทำงานของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

 255270.jpg

แอมเนสตี้มีส่วนร่วมสนับสนุนสิทธิ LGBTQIอย่างไร? 

แอมเนสตี้มุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการแบ่งแยกกลุ่มคน LGBTQI ทั่วโลก แอมเนสตี้ให้คำแนะนำต่อรัฐบาลและผู้นำทรงอิทธิพลเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายและปกป้องสิทธิของทุกคนโดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา

หลังจากแคมเปญทั่วโลกของแอมเนสตี้ ศาลสูงสุดของไต้หวันตัดสินว่าการแบนการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเดือนพฤษภาคม 2019 ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ยอมรับการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน

ในพื้นที่อื่น ๆ งานของแอมเนสตี้สร้างอิทธิพลต่อกฎหมายใหม่ในกรีซ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ที่อนุญาตให้ประชาชนขอรับรองเพศสถานะที่แท้จริงทางกฎหมายจากรัฐบาล

ในขณะที่ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าการเคลื่อนไหวสิทธิ LGBTQI ก้าวหน้าอย่างชัดเจน แต่งานยังไม่จบเพียงเท่านี้ แอมเนสตี้ช่วยนักกิจกรรมทั่วโลกโดยการผลิตแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นมากมายที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคน LGBTQI เช่น เครื่องมือในการสนับสนุนที่จะช่วยต่อสู้กับการแบ่งแยกในแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮาราและเอกสารชุด Body Politics ที่มีเป้าหมายสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการกำหนดให้รสนิยมทางเพศและการสืบพันธุ์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

 

(อ้างอิงจากประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/politics/news-488090)

(อ้างอิงจาก BBC https://www.bbc.com/thai/international-55325742 )

(อ้างอิงจาก รายงานบริบทของประเทศไทย การศึกษาทบทวนและวิเคราะห์กฎหมายและสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรภาคประชาสังคมและบุคคลที่เป็น LGBT โดยกระบวนการมีส่วนร่วม)

https://www.amnesty.or.th/latest/blog/860

No comments:

Post a Comment