Sunday, June 20, 2021

ฮอร์โมนเพศชาย กับการทำงานในร่างกาย

 ฮอร์โมนเพศชาย หรือฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายของคุณผู้ชายทั้งหลาย ดังนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับฮอร์โมนนี้ให้มากขึ้นและรู้จักดูแลตัวเองเพื่อให้ฮอร์โมนอยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ผู้ชายจะส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้

1471 ฮอร์โมนเพศชาย Resized

ฮอร์โมนเพศชาย คือ อะไร ?

ฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนถูกสร้างขึ้นบริเวณอัณฑะของเพศชาย ทำหน้าที่ควบคุมระบบการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และช่วยให้ลักษณะภายนอกของผู้ชายดูสมชายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจพบฮอร์โมนชนิดนี้ในผู้หญิงได้เช่นกัน แต่ก็มีปริมาณน้อยมาก

ฮอร์โมนเพศชายทำงานอย่างไร ?

ฮอร์โมนเพศชายมีความสำคัญต่อแทบทุกระบบในร่างกายของผู้ชาย โดยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • คงความแข็งแรงและรักษามวลกล้ามเนื้อ
  • รักษาความหนาแน่นของมวลกระดูก
  • มีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือด การสลายไขมัน และการสร้างอสุจิ
  • ทำให้เกิดขนตามร่างกายและใบหน้า
  • ช่วยให้เกิดความต้องการทางเพศ เพิ่มขนาดของอวัยวะเพศและอัณฑะเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ

ฮอร์โมนเพศชายมีปริมาณเท่าไรถึงเรียกว่าปกติ ?

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ชายจะมีระดับฮอร์โมนเพศชายอยู่ที่ 270-1070 นาโนกรัม/เดซิลิตร และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 679 นาโนกรัม/เดซิลิตร หากมีสุขภาพแข็งแรง ระดับฮอร์โมนเพศชายจะอยู่ที่ 400-600 นาโนกรัม/เดซิลิตร โดยผู้ชายจะมีระดับฮอร์โมนนี้สูงที่สุดในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น จากนั้นจะเริ่มมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยลดลงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ทุกปีหลังมีอายุ 30 หรือ 40 ปีขึ้นไป และจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่แสดงถึงการมีฮอร์โมนเพศชายลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงวัยกลางคน หรือเมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ระดับฮอร์โมนเพศชายที่ผิดปกติส่งผลอย่างไรบ้าง ?

ปริมาณฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงหรือเพิ่มมากขึ้นจนเกินไปจะทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนเพศ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้ในที่สุด โดยนอกจากอายุที่เป็นปัจจัยสำคัญแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศชายแปรปรวนได้

โดยสาเหตุที่อาจทำให้ปริมาณฮอร์โมนเพศชายลดลงได้ มีดังนี้

  • การได้รับบาดเจ็บที่อัณฑะ
  • การรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบสืบพันธุ์ด้วย เช่น การทำรังสีบำบัด การทำเคมีบำบัด เป็นต้น
  • การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น
  • ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไต
  • โรคเอดส์
  • โรคตับอักเสบ
  • การติดสุรา
  • ความเครียด

ระดับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา รวมทั้งอาจส่งผลต่อสมรรถภาพร่างกายในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ร่างกายมีพลังงานน้อยลงรวมทั้งมีความแข็งแรงและความทนทานลดลง
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • มีความกระตือรือร้นน้อยลง อาจรู้สึกเศร้าหรือหดหู่ร่วมด้วย
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น
  • ปวดตามกระดูกหรือข้อต่อ และอาจเกิดโรคกระดูกพรุน
  • ความต้องการทางเพศลดลง

ในขณะที่การมีปริมาณฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าระดับปกตินั้นอาจส่งผลได้ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี ผลดี คือ ช่วยให้ระดับความดันโลหิตเป็นปกติ ทั้งยังลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและภาวะหัวใจขาดเลือดได้ด้วย แต่ในทางกลับกัน ปริมาณฮอร์โมนเพศชายที่สูงมากเกินไปอาจส่งผลให้ผู้ชายมีแนวโน้มบริโภคแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่มากขึ้น รวมทั้งอาจทำให้มีอารมณ์ก้าวร้าวมากกว่าปกติ ซึ่งการใช้อารมณ์นั้นอาจทำให้เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ และอาจร้ายแรงถึงขั้นมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงทางเพศหรือก่ออาชญากรรมได้อีกด้วย

ระดับฮอร์โมนเพศชาย ตรวจวัดได้อย่างไร ?

การตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศชายทำได้ด้วยการตรวจเลือด โดยแพทย์จะนำตัวอย่างเลือดไปตรวจปริมาณฮอร์โมน หากพบว่ามีฮอร์โมนเพศชายอยู่ในระดับที่ผิดปกติ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม จากนั้นจะนำผลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

ระดับฮอร์โมนเพศชายผิดปกติ รักษาอย่างไร ?

ภาวะฮอร์โมนเพศชายผิดปกติสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนทดแทนปริมาณฮอร์โมนที่ลดลงไป ซึ่งในปัจจุบันยาฮอร์โมนดังกล่าวก็มีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ เช่น ยาฉีด แผ่นแปะ ยาทา หรือเจล เป็นต้น โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรเลือกใช้ยาชนิดใดตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละราย

ข้อดีของการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน คือ ฮอร์โมนนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงของผู้ชาย และเร่งการเจริญเติบโตของอัณฑะ ส่วนข้อเสีย คือ อาจทำให้หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น และไม่เหมาะกับผู้ป่วยชายที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งเต้านม การใช้ฮอร์โมนดังกล่าวจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนระดับฮอร์โมนเพศชายที่ผิดปกติเนื่องจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่าง แพทย์จะรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ ต่อไป

การใช้ฮอร์โมนเพศชายในทางที่ผิดส่งผลอย่างไร ?

ในปัจจุบันมีการนำฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนชนิดสังเคราะห์มาใช้เป็นสารกระตุ้นในการแข่งกีฬาหรือเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคตับ อวัยวะเพศผิดปกติ มีบุตรยาก มีอารมณ์ฉุนเฉียวและก้าวร้าวมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังจากการใช้เข็มฉีดยาอีกด้วย และจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ดูแลตัวเองอย่างไรให้มีระดับฮอร์โมนเพศชายเป็นปกติ ?

แม้ระดับฮอร์โมนเพศชายจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างก็มีส่วนช่วยให้ปริมาณฮอร์โมนดังกล่าวอยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพได้ โดยคุณผู้ชายทั้งหลายสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ จากการศึกษาพบว่าการนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลง ทั้งยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอีกด้วย
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ภาวะอ้วนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง การลดน้ำหนักจึงอาจช่วยให้มีระดับฮอร์โมนนี้สูงขึ้นได้
  • รู้จักผ่อนคลายความเครียด งานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่าฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เกิดจากความเครียดอาจไปขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเพศชายได้ จึงควรพยายามจัดการกับความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ทำสมาธิ ฝึกการหายใจ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นต้น
  • รับประทานอาหารที่มีสังกะสีและแมกนีเซียม เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ช่วยรักษาระดับฮอร์โมนเพศชายได้ โดยอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี ได้แก่ เนื้ิิอสัตว์ หอยนางรม พืชตระกูลถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ ส่วนแมกนีเซียมนั้นพบได้มากในผักปวยเล้ง อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสง
  • เพิ่มไขมันดีในอาหาร ฮอร์โมนเพศชายนั้นสร้างขึ้นจากคอเลสเตอรอลในร่างกาย ผู้ชายจึงควรรับประทานอาหารที่มีไขมันดีมากขึ้น เช่น ปลาทะเลน้ำลึก อะโวคาโด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นไขมันชนิดที่ดี แต่ผู้บริโภคก็ควรรับประทานในปริมาณพอดีเช่นกัน
  • รับประทานปลามากขึ้น โดยเฉพาะปลาทะเลอย่างแซลมอน ทูน่า และแมคเคอเรล เพราะไม่เพียงมีไขมันดีในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว แต่ยังอุดมไปด้วยวิตามินดี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกระบวนการผลิตฮอร์โมนให้ทำงานได้ดีขึ้น
  • ลดการบริโภคน้ำตาล เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ จึงควรลดการบริโภคน้ำตาลเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านนี้
  • หลีกเลี่ยงสารเคมีบีพีเอ (BPA) งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า การทำงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีบีพีเอติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งสารนี้พบได้ในบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารแบบพลาสติก อาจมีผลให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงมากกว่าคนทั่วไปได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายได้ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง ทั้งยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและลดความเครียดได้อีกด้วย
  • ดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มขึ้นและทำให้อัณฑะหดตัวลง ซึ่งกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนเพศชาย ผู้ชายจึงควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณพอเหมาะเท่านั้น คือ ไม่เกินวันละ 2 ดื่มมาตรฐาน

ขอบคุณที่มา www.pobpad.com

Ad. ฮอร์โมนเพศชายเสริมสำหรับผู้ชายวัยทำงาน วัยทอง ทอม ทรานส์แมน  www.smartboyshopping.com

No comments:

Post a Comment