ปรับปรุงแล้ว เมื่อ 19 นาทีที่ผ่านมา
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักรเสด็จสวรรคตแล้ว ที่ปราสาทบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ ขณะมีพระชนมพรรษา 96 พรรษา หลังจากทรงครองราชย์มา 70 ปี
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์พระองค์ใหม่ตรัสว่า การสวรรคตของพระราชมารดาผู้เป็นที่รักคือ "ห้วงเวลาแห่งความโทมนัสครั้งยิ่งใหญ่" สำหรับพระองค์ตลอดจนสมาชิกราชวงศ์ และการสูญเสียสมเด็จพระราชินีนาถฯ จะสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้คนทั่วโลก
พระเจ้าชาร์ลส์ ตรัสว่า "เราเศร้าโศกเป็นอย่างยิ่งต่อการเสด็จสวรรคตของกษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เทิดทูน และพระราชมารดาผู้เป็นที่รักยิ่ง"
"ข้าพเจ้ารู้ว่าการสูญเสียพระองค์จะสร้างความรู้สึกอย่างลึกซึ้งไปทั่วประเทศ ราชอาณาจักร และรัฐเครือจักรภพ ตลอดจนผู้คนนับไม่ถ้วนทั่วโลก"
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในปี 1952 และทรงเป็นประจักษ์พยานในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากมาย
สมาชิกราชวงศ์ระดับสูงเสด็จฯ ไปยังพระตำหนักที่ประทับในประเทศสกอตแลนด์ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 ก.ย.หลังมีกระแสความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีนาถฯ
ต่อมา สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตอย่างสงบ ที่ปราสาทบัลมอรัล เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 ก.ย.
พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถฯ เสด็จฯ ไปยังบัลมอรัล หลังจากคณะแพทย์เข้าถวายการดูแลสมเด็จพระราชินีนาถฯ
เจ้าชายวิลเลียมพระราชนัดดา อยู่ที่ปราสาทบัลมอรัลแล้ว เช่นเดียวกับเจ้าชายแฮร์รี ที่เสด็จมาถึงแล้วเช่นกัน
พระเจ้าชาร์ลส์จะเป็นผู้นำประชาชนในชาติถวายความไว้อาลัยต่อการสวรรคตในฐานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร และประมุขของเครือรัฐจักรภพ 14 ชาติ ส่วน คามิลลา พระชายาจะขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) พระองค์ใหม่
"กษัตริย์และราชินีพระองค์ใหม่จะประทับอยู่ที่บัลมอรัลค่ำวันนี้ และจะเสด็จฯ กลับกรุงลอนดอนวันพรุ่งนี้"
การสวรรคตทำให้เจ้าชายวิลเลียม และแคทเธอรีน พระชายา ได้เป็นดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์และคอร์นวอลล์
นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีนาถฯ เมื่อ 6 ก.ย. กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นหลักที่สร้างชาติอังกฤษยุคใหม่ ทรงเป็น "ผู้ให้ความมั่นคงและความแข็งแกร่งที่พวกเราต้องการ"
นอกจากนี้ นางทรัสส์ได้กล่าวถึงกษัตริย์พระองค์ใหม่ว่า "พวกเราขอถวายความจงรักภักดี และการอุทิศตน ดังเช่นที่พระราชมารดาของพระองค์ทรงอุทิศพระวรกายอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อผู้คนมากมายมาอย่างยาวนาน"
"เมื่อรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สิ้นสุดลง พวกเราจะก้าวเข้าสู่รัชสมัยใหม่แห่งประวัติศาสตร์อันเกรียงไกรของประเทศที่ยิ่งใหญ่ของพวกเรา ดังที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงปรารถนาไว้ ด้วยการกล่าวคำว่า 'ขอให้พระเจ้าจงคุ้มครองพระราชาเถิด'"
รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครอบคลุมห้วงเวลาที่ยาวนานตั้งแต่ยุคที่ประเทศต้องรัดเข็มขัดหลังสงครามโลก การเปลี่ยนผ่านจากจักรวรรดิอังกฤษสู่เครือจักรภพ การสิ้นสุดของสงครามเย็น และการที่สหราชอาณาจักรเข้าร่วมและถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
ตลอดการครองราชย์ของพระองค์มีนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 15 คน ตั้งแต่ วินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งเกิดปี 1874 มาจนถึงนางทรัสส์ ที่เกิดในปี 1975 หรือ 101 ปีให้หลัง โดยพระองค์ทรงให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเพื่อถวายรายงานประจำสัปดาห์ตลอดรัชสมัย
ที่พระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน ประชาชนที่รอฟังข่าวพระอาการของสมเด็จพระราชินีนาถฯ พากันร่ำไห้เมื่อได้ทราบข่าวการสวรรคต มีการลดธงชาติสหราชอาณาจักรที่โบกสะบัดเหนือพระราชวังลงครึ่งเสาเมื่อเวลา 18:30 น.ตามเวลาท้องถิ่น และมีการติดประกาศเรื่องการสวรรคตที่รั้วพระราชวัง
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประสูติเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 1926 ในย่านเมย์แฟร์ กรุงลอนดอน ทรงมีพระนามว่า เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์
เมื่อแรกประสูติไม่มีผู้ใดคาดคิดว่า เจ้าหญิงน้อยพระองค์นี้จะได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถในวันข้างหน้า ด้วยทรงเป็นพระธิดาพระองค์โตในเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุคแห่งยอร์ก รัชทายาทลำดับที่สอง และเลดี้ เอลิซาเบธ โบวส์-ไลออน ดัชเชสแห่งยอร์ก โดยมีพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรเป็นพระอัยกา
เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระอัยกาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จสวรรคตในปี 1936 องค์มกุฎราชกุมารเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แต่เพียงไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากนั้น กษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติเพื่อทรงสมรสกับนางวอลลิส ซิมป์สัน แม่ม่ายชาวอเมริกัน ทำให้พระบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธต้องเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหัน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้ทรงเป็นพระบิดา เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุ 10 ชันษาได้ทรงเขียนบันทึกความทรงจำต่อพระราชพิธีในครั้งนั้นไว้ว่า "ช่างแสนวิเศษเหลือเกิน"
เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ สถานการณ์ทั่วยุโรปในขณะนั้นคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้งตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะปะทุเป็นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยทั้งพระบิดาและพระมารดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างแข็งขัน เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์อังกฤษหลังการสละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 กลับคืนมา
ในปี 1939 เจ้าหญิงเอลิซาเบธซึ่งมีพระชนมายุ 13 ชันษา ได้ตามเสด็จพระบิดาและพระมารดาเยือนวิทยาลัยราชนาวีที่เมืองดาร์ตมัธ โดยมีนักเรียนนายเรือผู้หนึ่งเป็นผู้นำเสด็จขณะทอดพระเนตรบริเวณวิทยาลัยโดยรอบ แม้เจ้าหญิงเอลิซาเบธจะทรงเคยพบปะกับเขามาก่อนบ้างแล้วในฐานะพระญาติ แต่ในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทรงสนพระทัยในตัวของนักเรียนนายเรือผู้นี้อย่างแท้จริง เขาคือเจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซ พระราชสวามีในอนาคต ทั้งสองพระองค์ได้มีโอกาสติดต่อกันทางจดหมายและสานสัมพันธ์กันเรื่อยมานับแต่นั้น
สงครามโลกครั้งที่สองทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงได้สัมผัสกับชีวิตนอกรั้ววังและความยากลำบากของพลเมืองสหราชอาณาจักรในช่วงสงคราม โดยทรงอาสาเข้าร่วมกับหน่วยรับใช้ดินแดนพิเศษ (ATS) เรียนรู้การขับรถและการเป็นช่างยนต์ โดยต้องทรงทำหน้าที่เป็นช่างซ่อมบำรุงรถบรรทุกด้วย
ทรงรำลึกถึงวันสิ้นสุดสงครามในสมรภูมิยุโรปว่า "ผู้คนจำนวนมากมาร่วมกันฉลองที่หน้าวังบักกิงแฮม ข้าพเจ้ากับน้องสาวขอพ่อแม่ออกไปดูด้วยตาตนเอง และก็ได้ไปอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้ามากมายที่คล้องแขนกันเป็นแถวเดินไปตามท้องถนน ตอนแรกเรากลัวว่าจะมีคนจำได้ แต่ท้ายที่สุดเราก็ถูกกลืนหายไปกับกระแสของฝูงชนที่พากันปิติยินดีและโล่งใจที่สงครามสงบ"
ในช่วงหลังสงคราม เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงพบกับอุปสรรคในเรื่องที่มีพระประสงค์จะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิปอย่างมาก โดยหลายฝ่ายคัดค้านว่าเจ้าชายฟิลิปนั้นเป็นชาวต่างชาติ รวมทั้งมีพระอุปนิสัยโผงผางไม่เหมาะสมกับราชสำนัก แต่ในที่สุดพระเจ้าจอร์จที่หกทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสได้ โดยพระราชพิธีมีขึ้นที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ เมื่อ 20 พ.ย. 1947
ในเวลาต่อมา สมเด็จพระราชินีนาถฯ ได้ตรัสถึงพระราชสวามีว่าเป็นดั่ง "ขุมพลังแข็งแกร่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ได้" ตลอดระยะเวลา 74 ปีที่ทรงครองคู่กัน ก่อนที่เจ้าชายฟิลิปจะสิ้นพระชนม์ในปี 2021 ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา
หลังการอภิเษกสมรส เจ้าหญิงเอลิซาเบธและพระสวามีซึ่งได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นดยุคแห่งเอดินบะระ ยังคงมีโอกาสได้ใช้ชีวิตครอบครัวเยี่ยงสามัญชนทั่วไปอยู่ระยะหนึ่ง โดยพระโอรสคือเจ้าชายชาร์ลส์ (พระยศในขณะนั้น) ประสูติเมื่อปี 1948 ตามมาด้วยเจ้าหญิงแอนน์ซึ่งประสูติในปีถัดมา
ในขณะเดียวกัน พระพลานามัยของพระเจ้าจอร์จที่หกกำลังเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประชวรด้วยพระโรคมะเร็งในพระปับผาสะ (ปอด) ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธในฐานะองค์รัชทายาทลำดับแรกต้องทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อย่างเต็มที่ ส่วนดยุคแห่งเอดินบะระต้องทรงลาออกจากการรับราชการทหารเรือ เพื่อร่วมเคียงข้างพระชายาในการแบกรับพระราชภารกิจดังกล่าวด้วย
ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศในเครือจักรภพเมื่อปี 1952 ข่าวร้ายได้มาถึงอย่างกะทันหัน ขณะที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธและพระสวามีประทับอยู่ที่ประเทศเคนยา โดยเจ้าหน้าที่นำความกราบทูลว่า บัดนี้พระเจ้าจอร์จที่หกได้เสด็จสวรรคตและพระองค์คือสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักรแล้ว
"ข้าพเจ้าไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวมาก่อนเลย เสด็จพ่อจากไปขณะที่ยังทรงมีพระชนมายุไม่มากนัก ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องกะทันหันชนิดที่ว่า ต้องเข้ารับหน้าที่และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทันที" สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองตรัสย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 1953 โดยมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก แม้เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะคัดค้านก็ตาม โดยมีผู้รับชมการถ่ายทอดพระราชพิธีดังกล่าวจำนวนหลายล้านคน
ในขณะนั้น พลเมืองสหราชอาณาจักรยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากและภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองหลังสงคราม แต่การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ใหม่นั้น เปรียบได้กับแสงสว่างยามรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นความหวังแก่พวกเขาว่า ยุคแห่งความรุ่งเรืองเช่นเดียวกับรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่หนึ่งเมื่อหลายร้อยปีก่อนอาจกำลังเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
ตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรและของโลกหลายครั้ง
หลังจากนี้สมาชิกราชวงศ์จะเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ และจะยกเลิกการปฏิบัติกรณียกิจต่าง ๆ ขณะที่มีการลดธงลงครึ่งเสาตามพระราชวังและพระตำหนักของราชวงศ์ทุกแห่ง รวมถึงอาคารและสำนักงานของรัฐบาล ฐานทัพทั้งในและต่างประเทศ
หลังจากข่าวการสวรรคตแพร่ออกไป ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวระลึกถึงการที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงยืนหยัดเคียงข้างสหรัฐฯ ใน "ห้วงเวลาแห่งความมืดมนที่สุด" ของชาติหลังจากเหตุวินาศกรรม 9/11
ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็น "ราชินีผู้เมตตา" และทรงเป็น "สหายของฝรั่งเศส"
ขณะที่นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวแคนาดาเสมอมา และทรงเป็น "หนึ่งในบุคคลที่เขาชื่นชอบมากที่สุดในโลก"
No comments:
Post a Comment