10 สัญญาณเตือน ฮอร์โมนเพศชายต่ำ” เขียนโดย นพ.นิวัฒน์ ลักขณาวงศ์ รพ. เจริญกรุงประชารักษ์
..
สุขภาพน่ารู้ จากหมอยูโร
” 10 สัญญาณเตือน ฮอร์โมนเพศชายต่ำ” เขียนโดย นพ.นิวัฒน์ ลักขณาวงศ์ รพ. เจริญกรุงประชารักษ์
ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ หรือ บางคนเรียก “ชายวัยทอง”
คือ ภาวะที่คุณผู้ชายมีระดับอร์โมนเพศชายที่ลดลง ฮอร์โมนเพศชายคือเทสโทสเตอโรน (Testosterone)
ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง ช่วยเรื่องความจำ ระบบไหลเวียนโลหิต และทำให้สุขภาพทางเพศดีขึ้น เป็นต้น
พูดสรุปง่ายๆ คือ ฮอร์โมนตัวนี้ช่วยให้เราหนุ่มนั่นเอง
ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้สร้างจากอัณฑะเป็นหลัก และจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเราอายุมากขึ้น
โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เร่งทำให้ฮอร์โมนเพศชายต่ำลง
เช่น อ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เครียด ฯลฯ
?..คุ้นๆมั้ยครับ พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้จะว่าไปก็พบได้บ่อยในคนยุคปัจจุบันนะครับ จึงไม่แปลกที่คนหนุ่ม อายุไม่มาก ก็อาจมีภาวะของฮอร์โมนเพศชายต่ำได้
.
คราวนี้ถ้าขาดฮอร์โมนตัวนี้จะเกิดอาการอย่างไร?
ตัวอย่างอาการ ได้แก่ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ หงุดหงิดง่าย ไม่กระฉับกระเฉง เบื่อหน่ายซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน อ้วนลงพุง รู้สึกร้อนวูบวาบ หลงลืม กระดูกพรุน ฯลฯ
(อาการขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนที่ลดลงมากน้อยต่างกันไป)
เนื่องจากอาการของภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ ไม่เฉพาะเจาะจงและคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ
จึงมีเครื่องมือที่ทุกคนสามารถประเมินตัวเองเบื้องต้นได้ ก่อนที่จะมาพบแพทย์
ซึ่งเป็นแบบทดสอบ 10 ข้อ เพื่อประเมินภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ หรือ ADAM score (ตามรูปประกอบ)
โดย หากตอบว่า “ใช่” ในข้อที่ 1 หรือ 7
<หรือ> ตอบ “ใช่” อย่างน้อย 3 ข้อ
ให้สงสัยว่าอาจมีภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ ควรปรึกษาแพทย์
ซึ่งคุณหมอก็จะทำการตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนเพศชายเพิ่มเติม เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
โดยอยากจะขอย้ำว่า ต้องมีการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยครับ
แบบสอบถาม ADAM อย่างเดียวไม่พอ เนื่องจากบางการศึกษาพบว่า specificity ในการวินิจฉัยแค่ 36% ครับ และไม่แนะนำให้ไปซื้อยาฮอร์โมนมาใช้เองหลังตอบแบบสอบถามครับ
การรักษาภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งและไขมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลจิตใจให้แจ่มใส และจัดการกับความเครียด และการลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ฯลฯ
การให้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงผลดีและผลเสียของยาฮอร์โมนก่อนใช้
ดังนั้นหากเราอยากเป็นหนุ่มฟิตปั๋งไปนานๆ เราก็ควรดูแลร่างกายและป้องกันปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ
หากมีอาการก็ให้ปรึกษาแพทย์นะครับ
ตรวจทานโดย ผศ.นพ.เปรมสันต์ สังข์คุ้ม รพ.รามาธิบดี
เอกสารอ้างอิง
Morley JE, et al. Validation of a screening questionnaire for androgen deficiency in aging males. Metabolism 2000;49:1239-42.
No comments:
Post a Comment