เรื่อง: รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560
กีฬาวิ่งกำลังได้รับความนิยมแพร่หลาย ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะวิ่งเป็นกีฬาที่ง่าย วิ่งที่ไหน ตอนไหนก็ได้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องหาเพื่อนเล่น หรือถ้ามีเพื่อนวิ่งด้วยกันก็ยิ่งสนุกใหญ่
วิ่งออกกำลังกาย มีผลอย่างไรต่อเซ็กส์?
จากการสำรวจข้อมูลของหลายสำนัก พบว่านักวิ่งสมัครเล่นทุกเพศทุกวัย ตอบค่อนข้างตรงกันว่า การวิ่งออกกำลังกายเป็นประจำทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ร่างกายแข็งแรง มีความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เพศสัมพันธ์ดีขึ้นด้วย
วิ่งกับเซ็กส์ เกี่ยวอะไรกัน?
• ความเชื่อมั่นในตัวเอง
อันดับแรกเลยก็คือ คนที่เล่นกีฬามักจะรู้สึกมั่นใจในตัวเอง ทั้งเรื่องความแข็งแรงของร่างกาย การมีกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง ทนทาน ควบคุมร่างกายได้ดี รวมถึงความรู้สึกภูมิใจกับรูปร่างและบุคลิกภาพที่สง่าผ่าเผย ซึ่งไม่มากก็น้อย อารมณ์ทางเพศมีส่วนสัมพันธ์กับความรู้สึกดีต่อตัวเอง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เชื่อมั่น เพราะกลัวว่าตัวเองจะอ้วนเกินไป กลัวดูไม่ดีในสายตาของคู่ เหล่านี้ย่อมมีผลให้อารมณ์ทางเพศหดหาย
• สารเคมีในร่างกาย
การวิ่งออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphins) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข รวมทั้งสารสื่อประสาทที่สำคัญ ได้แก่ เซโรโทนิน (serotonin) และโดพามีน (Dopamine) ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายรับรู้ได้เร็ว จึงไวต่อการกระตุ้นเร้าและเกิดอารมณ์ทางเพศได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การวิ่งออกกำลังกายยังช่วยการทำงานของหัวใจ และโลหิตไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลระยะยาวโดยตรงต่อสุขภาพและเพศสัมพันธ์
ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ผลการสำรวจของหลายสถาบันพบผลตรงกันว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะไวต่อสัมผัส ทำให้ตอบสนองทางเพศได้ดีขึ้น ขณะที่ผู้ชายตอบว่า ถึงจุดสุดยอดได้ดีขึ้น รวมทั้งมีเซ็กส์ที่น่าพึงพอใจมากขึ้นด้วย
• วิ่งมากไป ระวังเซ็กส์เสื่อม
อย่างไรก็ตาม การวิ่งออกกำลังกายมากเกินไปกลับส่งผลเสีย มีผลการศึกษาที่พบว่า ถ้าวิ่งมากไป จะทำให้เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลดลง ซึ่งเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเพศชาย ที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของเนื้อเยื่อระบบสืบพันธุ์ เช่น อัณฑะและต่อมลูกหมาก ขณะที่คอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนเครียดมีระดับเพิ่มขึ้น ส่วนผู้หญิง ประจำเดือนอาจขาดหาย ซึ่งเหล่านี้ล้วนไม่ส่งผลดีต่อการมีเพศสัมพันธ์
แค่ไหนเรียกว่ามากไป? ถ้าเมื่อไรที่เริ่มรู้สึกว่า ทั้งที่เล่นกีฬามาเหนื่อยอ่อน แต่กลับนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร หรือคนที่ผอมเกินไป น้ำหนักไม่สมดุลกับความสูง นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าคุณกำลังออกกำลังกายเกินพอดี
“ความสุข” ในการเล่นกีฬาถือเป็นอีกตัวชี้วัดที่สำคัญ ถ้าเมื่อใด การออกกำลังกลายเป็นความเคร่งเครียด คาดหวังกับตัวเองสูง กลัวทำเวลาไม่ได้ กลัวเสียสถิติ นั่นย่อมไม่ใช่ความพอดี
การดูแลร่างกายให้แข็งแรงสดชื่นอยู่เสมอ จะช่วยให้มีสุขภาพดี ชีวิตทางเพศมีคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตที่สมดุล และเป็นสุข
https://www.whaf.or.th/