ปัญหาเทสโทสเตอโรนต่ำ ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย
ปัญหาเทสโทสเตอโรนต่ำ เป็นปัญหาที่อาจพบได้บ่อยในผู้ชายทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชายที่มีอายุมาก เมื่อระดับเทสโทสเตอโรนต่ำอาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น นอนไม่หลับ ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพบางประการ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
เทสโทสเตอโรน คืออะไร
เทสโทสเตอโรน คือ ฮอร์โมนที่ส่งผลต่อลักษณะต่าง ๆ ของผู้ชาย เช่น เสียง กล้ามเนื้อ ขนบนใบหน้า รวมถึงยังอkจช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง รักษาความแข็งแรงของกระดูก และช่วยการทำงานของสมอง โดยทั่วไป ระดับปกติของเทสโทสเตอโรนจะอยู่ในระดับตั้งแต่ 300-900 นาโนแกรม/เดซิลิตร ซึ่งระดับเทสโทสเตอโรนจะถึงจุดสูงสุดในช่วงวัยเลขสอง และหลังจากอายุ 30 หรือ 40 จะค่อย ๆ ลดลงปีละ 1% เมื่อระดับเทสโทสเตอโรนทีต่ำลง อาจทำให้ผู้ชายเผชิญกับปัญหาอย่าง เช่น
- การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพทางเพศ เช่น ความต้องการทางเพศลดลง การแข็งตัวของอวัยวะเพศตามธรรมชาติลดลง มีบุตรยาก
- การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น มวลกล้ามเนื้อลดลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ความหนาแน่นของกระดูกลดลง หน้าอกบวมหรือกดเจ็บ ผมร่วง ขนตามร่างกายน้อยลง อาจมีพลังวังชาน้อยกว่าที่เคย
- การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง
อย่างไรก็ตาม อาจต้องมีการระบุสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้งว่า ระดับเทสโทสเตอโรนต่ำเกิดมาจากการลดลงของเทสโทสเตอโรนเนื่องจากวัย หรือเกิดจากภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเทสโทสเตอโรนในระดับปกติได้ หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ผลข้างเคียงของยา ไทรอยด์มีปัญหา โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า ซึ่งโรคเหล่านี้อาจทำให้เทสโทสเตอโรนต่ำลง และอาจรักษาได้ด้วยการทำให้เทสโทสเตอโรนสูงขึ้น
ปัญหาเทสโทสเตอโรนต่ำ ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย
หากระดับเทสโทสเตอโรนจนอยู่ในระดับต่ำเกิน อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ อาจทำให้แรงขับทางเพศที่ลดลง ปัญหาการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศ ไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น รวมถึงยังอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอน ปัญหาทางจิตใจ และอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
ปัญหาไทรอยด์
ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือการมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ อาจทำให้ระดับพลังงานลดลง โดยภาวะนี้อาจเกิดจากโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเองที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีไทรอยด์ของตัวเอง อาการนี้อาจพบได้บ่อยในผู้หญิง แต่ก็อาจเกิดในผู้ชายได้เช่นกัน โดยนอกจากจะทำให้เกิดความอ่อนเพลียเรื้อรังแล้ว ยังอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น ท้องผูก น้ำหนักขึ้น ปวดกล้ามเนื้อ ผิวแห้ง ผมบาง อาการซึมเศร้า
นอกจากนี้ ภาวะขาดไทรอยด์ยังอาจทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนต่ำได้ หากมีปัญหาทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน ก็อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์ก็อาจจะทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนดีขึ้นด้วย
ปัญหาการนอน
อาการอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการนอนไม่พอ หรือคุณภาพการนอนที่ไม่ดี เช่น นอนดึก หรืออดนอนบ่อยๆ หรืออาจเกิดมาจากภาวะผิดปกติในการนอน เช่น อาการหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความอ่อนเพลีย เนื่องมาจากทำให้คุณภาพการนอนต่ำ เพราะการขาดออกซิเจนเป็นระยะตลอดคืน หรืออาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Leg Syndrome) เป็นอีกโรคหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการนอนต่ำ และเกิดเป็นอาการอ่อนเพลียตลอดวัน
โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับจิตใจและร่างกาย ซึ่งอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า หมดหวัง มีความวิตกกังวล ไม่สนใจความเป็นไปในโลก ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการนอนหลับ พลังงานลดลง น้ำหนักเปลี่ยนแปลง ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซึ่งโรคซึมเศร้าอาจรักษาได้ด้วยการปรึกษาจิตแพทย์และการกินยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด
ขาดธาตุเหล็ก
โรคโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็กมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่โรคโลหิตจางทุกประเภทล้วนแต่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซึ่งระดับธาตุเหล็กต่ำในผู้ชายอาจเกิดจากการกินอาหารที่ไม่สมดุล การบริจาคเลือดบ่อยเกินไป หรืออาการมีอาการเลือดออกภายใน เช่น ที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ นอกจากนี้ โรคโลหิตจางยังอาจเกิดจากการขาดวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินบี 12
ที่มา https://hellokhunmor.com/
No comments:
Post a Comment